วันจันทร์, กรกฎาคม 13, 2552

กฎหมายที่ผู้หญิงควรรู้


กฎหมายที่ผู้หญิงควรรู้กฎหมาย เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันจนแยกกันไม่ออก คนที่ไม่รู้เรื่องกฎหมายอาจเสียเปรียบและมักพลาดท่าเสียที หรือเสียโอกาสเพราะความไม่รู้ โดยเฉพาะคุณผู้หญิงทั้งหลายที่ชอบบอกว่า กฎหมายเป็นเรื่องยุ่งยากจนละเลยที่จะเรียนรู้ แต่หารู้ไม่ว่าการรู้กฎหมายนั้นล้วนเป็นผลดีต่อการดำรงชีวิต และเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของความไม่รู้นั่นเอง
ศรัณยา ไชยสุต อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เปิดเผยว่า กฎหมายที่ผู้หญิงควรรู้หลักๆ มี 3 ด้าน ได้แก่ กฎหมายครอบครัว กฎหมายแรงงาน และกฎหมายแพ่ง เพราะเหล่านี้คือสิ่งที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวันในฐานะที่ผู้หญิงเป็นทั้งแม่ ภรรยา และลูก
กฎหมายครอบครัว
กฎหมายครอบครัวนั้น เริ่มตั้งแต่การหมั้น การสมรส การหย่า และทรัพย์สินระหว่างสมี-ภรรยา ซึ่งจากข้อมูลของหนังสือ “กฎหมายกับผู้หญิง” จัดทำโดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า สิ่งจำเป็นที่คุณผู้หญิงทุกคนควรรู้ไว้ก่อนทำการสมรส มี 7 เรื่องด้วยกัน เริ่มจาก 1. การหมั้น ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดเงื่อนไขการหมั้นไว้ว่า ชาย-หญิง จะต้องมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ โดยต้องให้บิดา มารดา ผู้ปกครองให้ความยินยอม และจะต้องมีการมอบของหมั้นให้แก่หญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหฐิงนั้น
2. เงื่อนไขการสมรส ชาย-หญิงต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ถ้าจะสมรสอายุน้อยกว่านี้ต้องขออนุญาตศาล มิฉะนั้น อำเภอจะไม่จดทะเบียนสมรสให้ ทั้งนี้ทั้งคู่ต้องมีสติดี ไม่เป็นคนวิกลจริต และห้ามสมรสกับผู้รับบุตรบุญธรรม ห้ามญาติสนิทสืบสายโลหิตสมรสกัน ถ้ามีคู่สมรสแล้วห้ามจดทะเบียนสมรสอีก หญิงม่ายต้องรอ 310 วัน จึงจะสมรสใหม่ได้ รวมทั้งผู้เยาว์ต้องขอความยินยอมจากบิดามารดา นอกจากนี้คือ ชาย-หญิง ต้องยินยอมเป็นสามีภรรยากัน
3. ทรัพย์สินระหว่างสามี-ภรรยา กฎหมายแบ่งทรัพย์สินระหว่าง สามี-ภรรยา เป็น 2 ชนิด คือ สินส่วนตัว ได้แก่ ทรัพย์ที่มีอยู่ก่อนสมรส เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับตามควรแก่ฐานะ เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รวมถึงทรัพย์ที่ได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดก หรือการให้โดยเสน่หา เช่น พ่อตา แม่ยาย ตาย ฝ่ายหญิงได้รับมรดกมาก็เป็นสินส่วนตัวของหญิง ถัดมาคือสินสมรส ได้แก่ ทรัพย์ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส ทรัพย์ที่ผู้ให้ทำพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ ระบุว่าให้ทั้งสองคนเป็นสินสมรส และทรัพย์ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
4. การหย่า ถ้าอยู่ด้วยกันไม่มีความสุข ประสงค์จะหย่าขาดจากกัน ตกลงกันได้โดยสันติวิธี เขียนสัญญาหย่าเป็นลายลักษณ์อักษร แบ่งลูก แบ่งทรัพย์กันว่าลูกคนไหนใครจะปกครอง ทรัพย์ชิ้นไหนใครจะเอา ลงชื่อสามี ภรรยา ต่อหน้าพยาน 2 คน แล้วนำสัญญาหย่าไปจดทะเบียนที่อำเภอ สำหรับข้อควรระวังของการหย่าคือ ต้องคิดให้รอบคอบ อย่าตัดสินใจวู่วามโดยใช้อารมณ์ เพราะบางครั้งเมื่อหายโกรธจะกลับมาคืนดีกันอีกก็กลับไม่ได้ เพราะเขาไปจดทะเบียนใหม่กับคนอื่นไปก่อนแล้ว แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ เพราะฝ่ายหนึ่งอยากหย่า แต่อีกฝ่ายไม่ยินยอม หรือยอมแต่แย่งลูก แย่งทรัพย์กัน ก็ต้องฟ้องร้อง
5. บุตรนอกสมรส คือ เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้จดทะเบียนสมรส เป็นบุตรนอกสมรสของชาย ถ้าชายมีศีลธรรมดีรับผิดชอบต่อเลือดเนื้อเชื้อไขของเขา ก็มีทางช่วยให้เด็กเปลี่ยนฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย
6. บุตรบุญธรรม ผู้ประสงค์จะรับบุตรบุญธรรมจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด คือ อายุ 25 ปีบริบูรณ์และแก่กว่าเด็กอย่างน้อย 15 ปี จะต้องรับความยินยอมจากบิดา-มารดาของเด็ก และจากตัวเด็กเอง (ถ้าอายุครบ 15 ปีแล้ว) รวมทั้งจากคู่สมรสทั้งผู้รับและผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม จากผู้ดูแลสถานสงเคราะห์ (หากเป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้งอยู่ในสถานสงเคราะห์) และต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ต้องผ่านการทดลองเลี้ยงดู 6 เดือน เพื่อดูว่าเข้ากับครอบครัวใหม่ได้หรือไม่ โดยมีนักสังคมสงเคราะห์ไปเยี่ยมอย่างน้อย 3 ครั้ง และต้องจดทะเบียน
7. มรดก หากเป็นมรดกตกทอด ทายาทที่จะได้รับ คือทายาทโดยธรรม และทายาทตามพินัยกรรม ถ้าผู้ตายทำพินัยกรรมสั่งไว้ว่ายกทรัพย์ชิ้นใดให้แก่ใคร ผู้นั้นก็มีสิทธิ์รับทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม แต่หากผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์มรดกจะตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม ซึ่งมี 6 ลำดับ ได้แก่ บุตร ถ้าบุตรคนใดตายก่อน หลานซึ่งเป็นบุตรของบุตรจะรับแทน ถัดมาคือ บิดา มารดา พี่น้องร่วมบิดา หรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อากฎหมายแรงงาน
ปัจจุบันผู้หญิงต้องออกมาทำงานนอกบ้านเพื่อช่วยภาระในครอบครัว ความรู้เรื่องกฎหมายแรงงานจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อมิให้ถูกเอาเปรียบหรือละเมิดสิทธิที่พึงได้ กฎหมายแรงงานนั้นมีฐานมาจากการขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ใช้แรงงานเนื่องจากอำนาจต่อรองของผู้ใช้แรงงานมีน้อยกว่า รัฐจึงต้องตรากฎหมายเพื่อคุ้มครองเป็นหลักประกัน
กฎหมายแรงงาน มีตั้งแต่เรื่องของสัญญาจ้างแรงงานลูกจ้างตามกฎหมาย ข้อจำกัดแรงงานหญิง และเซ็กซ์ในที่ทำงาน ที่กล่าวได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของผู้หญิง เนื่องจากเรื่องแบบนี้ไม่ใช่จะเกิดแต่ในที่ทำงานอย่างเดียว แต่กลับเกิดขึ้นโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน โรงแรม หรือแม้แต่บนรถเมล์ ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนที่ทำงานด้วยกันจะมีมาก รวมทั้งอำนาจเกินขอบเขต แต่การมีเรื่องทางเพศในที่ทำงานนั้นหากเป็นความยินยอมพร้อมใจกันก็ไม่เป็นปัญหา แต่มีหลายรายที่มีปัญหาแบบว่าพอใจฝ่ายเดียว
ยิ่งถ้าเป็นเรื่องของเจ้านายลวนลามทางเพศกับลูกจ้างด้วยแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะลูกน้องย่อมต้องกลัวนาย มีคนกล่าวถึงเลขาสาวกับนายจ้างกันมาก กฎหมายแรงงานจึงเข้ามาก้าวก่ายกำหนดห้ามเอาไว้ชัดเจน ห้ามมิให้มีการจับจูบลูบคลำกันพร่ำเพรื่อ ซึ่งการลวนลามนี้ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเข้าขั้นข่มขืนหรืออนาจาร เพียงใช้คำพูดในลักษณะล่วงเกินทางเพศก็ถือว่าผิดแล้ว ดังนั้น หากมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นก็สามารถจะเล่นงานเจ้านายได้ตามกฎหมายแรงงาน เพราะมีโทษปรับทางอาญาถึง 2 หมื่นบาททีเดียว และลูกจ้างเองก็สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้อีกทางด้วย
กฎหมายแพ่ง
ส่วนใหญ่เรื่องที่ต้องเป็นความ หรือมีคดีขึ้นโรงขึ้นศาลนั้นเกินกว่าร้อยละ 90 มักจะมาจากความไว้เนื้อเชื่อใจกันจนเกินไปหรือมาจากคนใกล้ชิดสนิทสนม แล้วก็มักจะละเลยในการที่จะทำอะไรให้ถูกต้อง ตรงไปตรงมา ดังนั้น การรู้เรื่องต่างๆ ต่อไปนี้ จะทำให้คุณผู้หญิงไม่ตกเป็นเหยื่อได้ง่าย
1. การกู้ยืมเงิน กฎหมายกำหนดว่า ถ้ากู้เงินกันเกินกว่า 50 บาทขึ้นไป จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ มิฉะนั้น จะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้ กฎหมายนี้ร่างกันมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2478 สมัยนั้นเงิน 50 บาท มิใช่น้อย แต่เมื่อยังไม่ได้มีการแก้ไข ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย
2. การเช่าซื้อกับการซื้อขายแบบผ่อนส่ง โดยความหมายของการเช่าซื้อ คือ ผ่อนชำระค่าสินค้าเป็นงวดๆ เช่นเดียวกับการซื้อขายแบบผ่อนส่ง แต่ต่างกันที่ว่าการซื้อขายแบบผ่อนส่งกรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นจะโอนไปยังผู้ซื้อทันที
3. การขายฝาก สำหรับการขายฝากนั้น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกเป็นของผู้ซื้อทันทีเมื่อทำการซื้อขายกัน เพียงแต่มีข้อตกลงว่า ผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์สินคืนได้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ข้อตกลงนี้ต้องทำเป็นหนังสือ และต้องจดทะเบียนระบุให้ชัดเจนว่า จะไถ่คืนภายในเวลากี่ปี ด้วยทรัพย์สินไถ่เงินคืนเท่าไหร่ เป็นต้น
4. การจำนอง คือการเอาเอกสารที่แสดงกรรมสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน หรือ ร.ส.3 ไปจดทะเบียนเป็นประกันการชำระหนี้โดนไม่ต้องส่งมอบทรัพย์ ส่วนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ยังเป็นของลูกหนี้อยู่ เจ้าหนี้จะบังคับเอาทรัพย์หลุดเป็นกรรมสิทธิ์ได้ต่อเมื่อลูกหนี้ขาดส่งดอกเบี้ย 5 ปี ติดต่อกัน และต้องฟ้องบังคับจำนอง ทรัพย์ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหนี้ทันที อย่างการขายฝาก เกษตรกรจึงควรระมัดระวัง ถ้าเอาที่ดินไปจำนองใครก็ต้องพยายามส่งดอกเบี้ยไว้ทุกปีอย่าได้ขาด และอย่าพยายามไปขอกู้เงินเพิ่มโดยอาศัยหลักทรัพย์เดียวกันนั่นอีก เพราะถือว่าเพิ่มต้นก็จะเพิ่มดอกจนส่งไม่ไหว ทำให้ที่ดินหลุดมือได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น